“ผมคิดว่ามันจะไม่แก้อะไรเลย ถ้าระบอบใหม่ไม่จำกัดอำนาจรัฐด้วยการเคารพเสรีภาพปชช.” – เกษียร เตชะพีระ
“รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 กับการปฏิรูปการเมือง” | |||
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 10/10/49 | |||
(บรรยายในการอภิปรายทางเมืองในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 กับการปฏิรูปการเมือง” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา) | |||
“ถ้านี่คือบทเรียนราคาแพงของเรา ผมคิดว่ามันจะไม่แก้อะไรเลยจากสิ่งที่เราหนีจากระบอบทักษิณมา ถ้าระบอบใหม่ไม่จำกัดอำนาจรัฐด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน” อ่านความคิดแบบคำต่อคำของนักรัฐศาสตร์สำนักท่าพระจันทร์ “เกษียร เตชะพีระ”
|
|||
|
|||
เรื่องแรก สัมพันธภาพอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า constitution ไม่ใช่ constitutionalism รัฐธรรมนูญไม่ใช่ลัทธิรัฐธรรมนูญ หรือพูดง่ายๆ กว่านั้นคือ law ไม่ใช่ the rule of law สองอย่างนี้แตกต่างกัน ถ้าเห็นความต่างของสองอย่างนี้จะเข้าใจว่ามันเป็นไปได้ในสังคมการเมืองหนึ่งที่จะมี constitution without constitutionalism ที่จะมี law without the rule of law
ผมคิดว่าตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดมาจากธรรมนูญการปกครอง 2502 ที่ถูกร่างในสมัยสฤษดิ์ และมาตราที่โด่งดังที่สุดคือมาตรา 17 ซึ่งถ้าอ่านดูมาตรา 17 มันชัดเจนที่สุด คือมันเป็นไปได้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เราจะ constitutionalization คือสามารถเอาระบอบอาญาสิทธิ์ ระบอบที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดรวมศูนย์ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ มาอยู่ในมือคนคนเดียวแล้วทำให้มันเป็นรัฐธรรมนูญ ถ้าอย่างนี้ปัญหา constitutionalism มันไม่ใช่ absolutism ถ้านึกไม่ออก มันไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เวลาเราพูดถึง constitutionalism อย่าไปนึกถึงกฎหมาย มันจะทำให้เราปวดหัว คิดอย่างนี้ก่อน เวลาเราคิดถึง constitutionalism ให้คิดถึง limited government รัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด เพราะฉะนั้น absolutism มันตรงข้างกับ constitutionalism เพราะว่า absolutism คือ absolute government หรือ unlimited government คิดจะทำอะไรก็ได้ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพใครก็ได้ ถ้าเราพูดถึง constitutionalism เราคิดถึงรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด จำกัดโดยอะไร? จำกัดโดยสิทธิเสรีภาพของประชาชน “มึงทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพของกู” ถ้าเขาทำได้ เราไม่ได้อยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญ เราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เราต้องมี limited government ถึงจะมี constitutionalism และ limited by people right and freedom แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า limited มันต้องมีกรรมการกำกับเส้นไม่ให้ government ล่วงล้ำ limit นี้ กรรมการกำกับเส้นให้ประชาชนมี right and liberty นี้คือศาลสถิตยุติธรรมที่อิสระ limited government, ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ศาลยุติธรรมอิสระที่คอยกำกับเส้น มีทั้งหมดนี้ถึงจะมี constitutionalism ถ้าไม่มีอันนี้ ไม่ได้นำไปสู่ลัทธิรัฐธรรมนูญหรือระบอบรัฐธรรมนูญ อันนี้คือสิ่งที่ 2475 สู้กันแทบเป็นแทบตาย ระบอบทักษิณที่เราเพิ่งจากมา ผมมีปัญหากับระบอบนี้ เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็น absolutism แบบหนึ่ง ภายใต้การปกครองของคุณทักษิณ คุณทักษิณรวบอำนาจไว้กับตัวและใช้อำนาจนั้นในลักษณะลิดรอนล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน เยอะแยะ ทั้งสงครามต่อต้านยาเสพติด ปัญหาภาคใต้ เราไม่จำเป็นต้องไปพูดถึง มันเยอะเหลือเกิน เราสู้กับรัฐบาลทักษิณก็เพราะปัญหานี้ เรารับไม่ได้กับหลายเรื่องของคุณทักษิณ ทั้งเรื่องนโยบาย คุณธรรม ประชานิยม คอร์รัปชั่น แต่สำหรับผม เรื่องหลักที่ผมรับไม่ได้คือ absolutism ของรัฐบาลทักษิณ มันเป็น elected capitalist absolutism หรือระบอบอาญาสิทธิ์ทุนนิยมที่มาจาการเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนจะมี 19 กันยา ผมคิดในใจว่า “ไอ้ห่า ฉิบหาย” คือผมคิดว่า เราสู้กับ absolutism หนักมาก แล้วถ้าไม่สามารถชนะเขาได้ one absolutism draws out the other อำนาจอาญาสิทธิ์มันจะดึงเอาอำนาจอาญาสิทธิ์อีกชุดหนึ่งมาทำลายมัน แล้วมันก็เกิด ถ้านี่คือบทเรียนราคาแพงของเรา ผมคิดว่ามันจะไม่แก้อะไรเลยจากสิ่งที่เราหนีจากระบอบทักษิณมา ถ้าระบอบใหม่ไม่จำกัดอำนาจรัฐด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วเคารพไหม? มีปัญหาอยู่ข้อสองข้อ ข้อที่หนึ่งคือ คปค. สิ่งที่ คปค. ทำคือรัฐประหาร รัฐประหารแปลว่าอะไร? คือการฆ่ารัฐลงไป เวลาที่เราฆ่ารัฐหรือฆ่าระบอบการเมืองหนึ่งลงไป เกิดอะไรขึ้นกับประชาชน? อันนี้ผมพูดตามปรัชญาการเมืองเสรีนิยมของจอห์น ล็อค เวลาที่เขาฆ่ารัฐลงไป บรรดาผู้คนพลเมืองในประเทศกลับกลายไปสู่สภาวะธรรมชาติแบบ state of nature หรือเปล่า? มีบางท่านตีความแบบนั้น ไม่ใช่นะครับ เราไม่ได้กลับไปสู่ the state of nature พูดตามจอห์น ล็อค ถ้ามีการรัฐประหารโดยประชาชนไม่ได้ให้ความสมยอมแล้ว จะเกิดภาวะ state of war State of war คืออะไร คือมีการใช้กำลังโดยไม่เคารพสิทธิของประชาชน และ the state of war continues จนกว่าจะมีการรับลงสัญญาประชาคม และประชาชนให้ความยินยอมในการสร้างระบอบ ถ้าไม่มีอันนี้ ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญ the state of war จะดำรงอยู่ต่อไป ข้อที่สอง รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตราที่ 3 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ผมคิดว่าไม่มีระบอบใดในเมืองไทยที่ผ่านมาที่ไม่เรียกตัวเองว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบสฤษดิ์ก็เรียกตัวเองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็เรียกตัวเองว่าอย่างนั้น ถ้าเราเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบสฤษดิ์ แปลว่าอะไร? อะไรคือหลักประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว? ไม่มีเลย “the state of war continues” เรื่องที่สอง สัมพันธภาพอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ผมคิดว่า เราทะเลาะกันมาตั้งแต่ต้นปีกันยาถึงปัจจุบัน โดยหลักแล้วเราทะเลาะกันเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ แล้วมันทิ้งโจทย์ใหญ่ไว้สองข้อที่รัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราวไม่ได้ตอบ และเป็นโจทย์ที่ชี้ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต่อไปนี้จะตอบหรือไม่ อันนี้น่าสงสัยมาก โจทย์ใหญ่สองข้อมีดังนี้ ข้อหนึ่ง จะวางตำแหน่งแห่งที่ของทุนใหญ่ในประเทศ ทุนโลกาภิวัตน์ ไว้ตรงไหนในสังคมไทย ปัญหามันเกิดเพราะมันมีทุนใหญ่ในประเทศเข้ามาสู่การเมือง สามารถแปรอำนาจที่มีอยู่เป็นอำนาจทางการเมืองได้ และรวบอำนาจทางการเมืองนั้น แล้วทุนใหญ่ในประเทศก็เชื่อมโยงกับทุนโลกาภิวัตน์ ปัญหามันเกิดเพราะเรารู้สึกว่าอำนาจนี้มันเยอะเกินไป มันมากเกินไป มันรวมศูนย์เกินไป จะเอายังไง เราจะห้ามไม่ให้ทุนใหญ่เข้ามาสู่วงการมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเขาเข้ามาเราจะสร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรที่จะจำกัดอำนาจทุนใหญ่ทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับทุนโลกาภิวัตน์ หรือว่ามันจำกัดไม่ได้ด้วยตัวรัฐธรรมนูญ อันนี้ผมไม่ทราบ ข้อสอง ปัญหาความสัมพันธ์ของพระราชอำนาจกับสถาบันอื่นๆ ในสังคมการเมืองไทย นี่เป็นเรื่องที่เราทะเลาะกันใช่ไหม ตั้งแต่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เสนอมาตรา 7 กับนายกฯ พระราชทาน อยากให้พระราชอำนาจขยายไปถึงพระราชทานนายกฯ ได้ แล้วในหลวงก็บอก “มั่ว” ตอนตุลาการภิวัตน์ ตีความกันเละเลย มีการพูดกันหลายฝ่าย แล้วก็มีเวอร์ชั่นนึงบอก “เนี่ย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ นี่คือถูกต้องแล้วตามมาตรา 3” รวมทั้งล่าสุดก็คือ จ็อกกี้ม้าและเจ้าของ ก็นำไปสู่ข้อถามของสมาชิกพรรคไทยรักไทยบางคนว่า อะไรคือบทบาทหน้าที่ขององคมนตรี เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ทั้งนั้นว่าต่อไปในอนาคตนอกจากเราจะจัดวางทุนใหญ่ไว้ตรงไหน อย่างไร เรื่องจะจัดความสัมพันธ์อย่างไรระหว่างพระราชอำนาจกับสถาบันการเมืองอื่นๆ ในสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่ตอบ มีสิทธิ์ยุ่งในอนาคต เพราะคนไทยเรามาถึงจุดที่เริ่มจะเห็นแล้วว่ามีความเห็นที่แตกต่าง ไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้แล้ว เรื่องที่สาม สัมพันธภาพในหมู่ประชาชน เช้านี้จริงๆ แล้วผมเพิ่งไปไหว้วีรชนเดือนตุลามา คือปกติสัปดาห์สองสัปดาห์ครั้ง ผมจะซื้อพวงมาลัยสองพวงไปไหว้ประติมากรรมอนุสรณ์ 14 และ 6 ตุลา พวงหนึ่งผมจะคล้องวีรชน 14 ตุลา พนมมือไหว้แล้วน้อมรำลึกถึงสิทธิเสรีภาพ อีกพวงหนึ่งผมจะวางกลางแจ้งตรง 6 ตุลา พนมมือไหว้แล้วก็น้อมรำลึกถึงความเป็นธรรมทางสังคม ผมคิดว่านี่คือสองประเด็นหลักของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา สองแนวคิดนี้แตกต่างแต่ก็เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มันต่อเนื่องเกี่ยวพันกันชนิดที่ผมพูดได้ว่าถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพก็ไม่อาจต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม ในแง่กลับกัน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิเสรีภาพที่ได้มาก็ไม่มีความหมาย อย่างน้อยก็ไม่มีความหมายต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อเพื่อนร่วมชาติ ร่วมทุกข์ร่วมสุขคนอื่นๆ การแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของสองประเด็นนี้ สองเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างแต่ว่าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือพันธมิตรสามประสาน คนรุ่นผมจะจำคำนี้ได้ดี “กรรมกร ชาวนา นักศึกษาปัญญาชน” เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้อย่างสันติในเมืองก่อน 6 ตุลา ผมอยากบอกว่าอุดมการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา อันได้แก่สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคมได้แตกสลายลงแล้วในยุคนี้ และเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายแห่งการแตกสมานนี้คือการแบ่งแยกแบ่งข้างของประชาชนในสังคมไทย ในความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลทักษิณ มันใช้เวลา 30 ปีก่อนอุดมการณ์เดือนตุลาจะพัง และในที่สุดมันก็พัง มันสะท้อนให้เห็นง่ายๆ ผ่านความขัดแย้งในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลา ซึ่งต่างแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งข้าง แยกค่าย ด่าทอ ประณามกันเอง ชุลมุนวุ่นวายจนเละไปหมด ข้างหนึ่งก็หมอพรหมมินทร์ หมอสุรพงษ์ พี่อ้วนภูมิธรรม จาตุรนต์ สุธรรม พินิจ อดิศร ตรีกมล พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ส่วนอีกข้างก็ธีรยุทธ พิภพ ประสาน หมอเหวง เจิมศักดิ์ แก้วสรร คำนูญ สิทธิสมาน ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ยุค ศรีอารียะ สุวินัย ภรณวลัย ในประเด็นแหลมคมร้อนแรงต่างๆ ที่สืบเนื่องจากนั้น และในหมู่นักเคลื่อนไหวปัญญาชนรุ่นถัดมา ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เรียกว่ากรณีมาตรา 7 นายกฯ พระราชทาน ทะเลาะกันแหลก กรณีตุลาการภิวัตน์ ทะเลาะกันแหลก และในกรณีรัฐประหาร 19 กันยา ก็ทะเลาะกัน ในหมู่อดีตนักเคลื่อนไหวพฤษภา 35 รุ่นปฏิรูปการเมือง รุ่นการเมืองภาคประชาชน ก็ทะเลาะกันอีก ความรุนแรงของความขัดแย้งเหล่านี้ ถึงขั้นเว็บไซด์บางแห่งของเพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลาที่เคยร่วมต่อสู้กันมาเซ็นเซอร์ข้อเขียนของธงไชย วินิจจะกูล ที่โพสต์มาจากมหาวิทยาลัยวิซคอนซิล คณะกรรมการสโมสร 19 ก็แสดงออกทางการเมืองด้วยการไปถ่ายรูปกับหมอมิ้งที่ทำเนียบถูกเพื่อนสมาชิกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแสดงออกอย่างหนักจนต้องประกาศลาออกทั้งชุดกลางคันเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า หลักฐานการแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาที่แท้จริง คือการที่พลังประชาสังคม คนชั้นกลาง ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ แตกหักแยกทางกับพลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าในเมืองในชนบท ที่เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม ฝ่ายแรกต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนอำนาจทางการเมืองของทุนใหญ่ในประเทศ หันไปร่วมมือกับชนชั้นนำตามประเพณี ขับโทษรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่ฝ่ายหลังสนับสนุนปกป้องรัฐบาลทักษิณ มันเป็นตลกร้ายทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นกลางพากันหวังพึ่งชนชั้นนำทหาร ข้าราชการ เทคโนแครต หรือในภาษาที่คนเดือนตุลาแต่เดิมเรียกว่า “ชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินา” ว่าจะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ในทางกลับกัน มวลชนรากหญ้าชั้นล่างก็หวังพึ่งชนชั้นนำผูกขาด ว่าจะอำนวยความเป็นธรรมให้กับตนเช่นกัน ผมว่าน้อยมากที่จะเห็นความหลงผิดซ้ำซ้อนกลับหัวกลับหางอย่างนี้ในสังคมการเมืองเดียว ถ้าหากนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่าง Privatization, FTA รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คอร์รัปชั่นทางนโยบายต่างๆ เป็นหลักฐานความหลงผิดของฝ่ายหลังแล้ว บรรดาประกาศคำสั่งของ คปค. โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ก็คือหลักฐานความหลงผิดที่ชัดแจ้งที่สุดของฝ่ายแรกนั่นเอง แต่สิ่งเหล่านี้มันมีที่มาของมัน การที่ชนชั้นกลางฝากความหวังสิทธิเสรีภาพของตนไว้กับชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินา แทนที่จะเป็นชนชั้นนายทุนใหญ่ ก็มิใช่เพราะลักษณะอำนาจนิยม อาญาสิทธิ์ อัตตาธิปไตย ของรัฐบาลนายทุนใหญ่ที่ละเมิดลิดรอนหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองใต้การปกครองอย่างกว้างขวางโจ่งแจ้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาหรอกหรือ? จนในที่สุดรัฐบาลทุนใหญ่ดังกล่าวก็ผลักไสคนชั้นกลางกลุ่มต่างๆ ที่ควรเป็นฐานทางการเมืองของตนได้ ให้ไปเป็นพันธมิตรของขุนศึกขุนนางศักดินาแทน พูดให้ถึงที่สุด การนำที่ผิดพลาดของทักษิณในฐานะของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยนี่แหล่ะ ที่ผลักดันชนชั้นกระฎุมพีให้ถอยหลังลงไปนับสิบปี ในทางกลับกัน การที่มวลชนรากหญ้าฝากความหวังความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมของตัวไว้กับชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาด ก็เพราะทางเลือกของเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงนั้นลำบากยากเข็ญ เนิ่นช้ายาวนาน เรียกร้องการปักใจมั่นเสียสละอดทนอดกลั้นอดเปรี้ยวไว้กินหวานมองการณ์ไกลสูงจริงๆ เพราะฉะนั้นมันไม่ใกล้มือ มันไม่จูงใจเท่าทางเลือกประชานิยม หรือทุนนิยมบวกบริโภคนิยม ของรัฐบาลนายทุนใหญ่มิใช่เหรอ จนในที่สุดมวลชนรากหญ้าที่เคยเป็นฐานให้ชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาเอาชนะการท้าทายที่ใหญ่โตที่สุดที่รัฐของพวกเขาเคยเผชิญมาในสงครามประชาชนกับคอมมิวนิสต์เมื่อ 20 ปีก่อน มวลชนเหล่านี้กลายเป็นฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งและขบวนการเคลื่อนไหวชุมนุมที่กว้างใหญ่ไพศาลและเหนียวแน่นยิ่งของพรรคชนชั้นนายทุนใหญ่ พูดให้ถึงที่สุด การที่มวลชนรากหญ้าหันไปนิยมนโยบายประชานิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ที่รัฐบาลนายทุนใหญ่กวาดโกยมา ก็สะท้อนขีดจำกัดแห่งพลังฝืนขืนทวนกระแสหลักของแนวทางเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงนั่นเอง การแสวงหาสิทธิเสรีภาพจากขุนศึกขุนนางศักดินา และการแสวงหาความเป็นธรรมจากนายทุนใหญ่ผูกขาด รังแต่จะนำไปสู่ทางตันเหมือนกัน การหลงทางและกล่าวประณามซึ่งกันและกัน ระหว่างอดีตสหายร่วมขบวนการ สามารถผลิตซ้ำตัวมันเองไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด บนพื้นฐานซีกส่วนต่างๆ ของอุดมการณ์เดือนตุลาเดียวกันนั่นเอง ไม่มีคำด่าประณามของฝ่ายไหนผิดหมด แต่ก็ไม่มีฝ่ายที่ร้องด่าประณามฝ่ายอื่นคนใดจะถูกถ้วนเลยสักฝ่ายหนึ่ง เพราะขีดจำกัดที่ยิ่งใหญ่เบื้องหน้าเรา เป็นขีดจำกัดแห่งความเป็นจริงของพลังการเมืองและทางเลือกในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเองโดยรวม เป็นขีดจำกัดของทั้งชนชั้นนำตามประเพณี และของชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดที่ขึ้นมาใหม่ ของทั้งพลังประชาชนคนชั้นกลาง และของพลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าชั้นล่าง ที่สำคัญ ขีดจำกัดนี้แยกสลายอุดมการณ์การเมืองจนแยกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ถึงรากถึงโคน จนยากจะมองเห็นว่ามันจะกลับมาฟื้นฟูเชื่อมประสานเป็นปึกแผ่นอันเดียวกันต่อไปอย่างไรในอนาคต |
|||
ที่มา : http://politic.tjanews.org สถาบันข่าวอิสรา |
Be the first to comment on "รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 กับการปฏิรูปการเมือง"